พยากรอากาศก่อนเดินทาง

ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เขาสามมุข



   เขาสามมุขหรือชื่อเดิมเรียกว่า สมมุก อยู่ติดกับชายหาดบางแสน บนเขาสามมุขมีศาลเจ้าแม่เขาสามมุข เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ และประชาชนทั่วไป ส่วนชื่อนั้น สันนิษฐานว่ามาจากสาเหตุ 2 ประการ ประการแรกคงมาจากลักษณะของภูเขา ที่มีแหลมยื่นออกไปในทะเล มองไกล ๆ คล้ายเป็นรูปสามเหลี่ยม จึงได้ชื่อว่า เขาสามมุข ประการที่สองมาจากตำนานที่เล่าต่อ ๆ กันมา ว่ามีหญิงสาวสวยคนหนึ่งชื่อ สามมุข เป็นชาวเมืองบางปลาสร้อย นางกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเล็ก อาศัยอยู่กับยายในกระท่อมที่ปลูกอยู่ที่หน้าผาริมทะเล นางเป็นคนสวย มีชีวิตที่ค่อนข้างสันโดษ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร
มีหนุ่มคนหนึ่งชื่อ แสน เป็นลูกชายกำนันบ่าย เศรษฐีแห่งหมู่บ้านอ่างหิน หรือ อ่างศิลา ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับภูเขาลูกนี้ แสนชอบเล่นว่าวเป็นชีวิตจิตใจ วันหนึ่งว่าวของแสนขาดลองไปตกอยู่ที่กระท่อมของสามมุข เธอเก็บว่าวของชายหนุ่มได้ เมื่อแสนตามว่าวมาก็พบกับสามมุข แล้วเขาก็ต้องตกตะลึงในความงามของหญิงสาว เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะพบหญิงสาวสวยในที่ห่างไกลจากชุมชนเช่นนี้ แสนต้องการที่จะมาพบกับสามมุขอีกครั้ง จึงขอมาพบนางอีก ในที่สุดสามมุขก็ใจอ่อนยอมให้แสนมาหาที่บ้าน ทั้งสองพบกันเกือบทุกวัน ด้วยความใกล้ชิดสนิทสนม ทำให้ทั้งสองมีความรักต่อกันชายหนุ่มสาบานกับหญิงสาวว่าจะรักเธอตลอดไป จะไม่มีใครมาพรากความรักของเขาได้ วันหนึ่ง แสนได้สวมแหวนของตนให้สามมุขเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า เขาจะรักสามมุขจนวันตาย ต่อมาไม่นานกำนันบ่าย พ่อของแสนรู้เรื่องนี้ก็โกรธมาก เพราะไม่พอใจที่สามมุขเป็นคนจน กำนันยื่นคำขาดให้แสนแต่งงานกับมะลิลูกสาวเศรษฐีบ้านอ่างศิลาทันที แสนไม่มีโอกาสมาบอกข่าวแก่สามมุขเลย
ในวันแต่งงานของแสนกับมะลิ ขณะที่แสนกำลังมอบรับน้ำสังข์อยู่นั้น เขาก็ต้องตะลึง เพราะสามมุขมายืนอยู่ตรงหน้า หญิงสาวมองแสนด้วยดวงตาที่ตัดพ้อ เธอถือสังข์รดน้ำอยู่ในมือ แล้วยื่นมืออันสั่นเทารดน้ำลงบนมือของชายหนุ่ม แล้วเธอก็ถอดแหวนคืนให้ที่มือของแสน หญิงสาวก็หันกลับไปอย่างรวดเร็ว สามมุขวิ่งไปที่กระท่อมของเธอ ร้องไห้สะอึกสะอื้นไปตลอดทาง เธอนึกถึงคำสาบานของแสนที่พูดไว้กับเธอ ทำให้เธอชอกช้ำยิ่งนัก หญิงสาวก้าวอย่างช้า ๆ ไปที่หน้าผาริมทะเล สายตาเหม่อมองไปข้างหน้า แล้วเธอก็ตัดสินใจกระโดดลงหน้าผาไป ครั้นแล้วแสนก็ตัดสินใจกระโดดหน้าผาตายตามสามมุขไปด้วยตามคำสาบานที่ตนให้ไว้กับคนรัก ต่อมาชาวบ้านได้สร้างศาลเจ้าแม่สามมุขไว้ที่หน้าผา ตรงที่สามมุขกับแสนกระโดดลงไปตาย เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความรักของคนทั้งสอง และเรียกภูเขานี้ว่า เขาสามมุข มาจนทุกวันนี้


จุดเด่นอีกอย่าง
 คือ ฝูงลิงป่า ที่อาศัยอยู่บนเขาหินลูกนี้มาแต่เดิม พวกมันมักจะออกมาอวดโฉมเพื่อขออาหารกันอยู่ตลอดวัน ลิงป่าที่นี่มีจำนวนนับพันตัว และบางตัวค่อนข้างดุ จึงต้องระวังด้านความปลอดภัยด้วย

ที่ตั้ง : อยู่บริเวณแหลมสามมุข จากอ่างศิลาไปตามทางหลวงหมายเลข 3134 อีกราว 3 กิโลเมตร พบป้ายบอกทางไปเขาสามมุข เลี้ยวขวาไปตามป้ายอีก 1 กิโลเมตร จนถึงศาลเจ้าแม่สามมุข หรือถ้ามาจากหาดบางแสน ใช้ถนนเส้นเลียบหาดมุ่งตรงสู่แหลมแท่น จะมีป้ายบอกทางไปตลอด ห่างจากหาดบางแสนราวๆ 2 กิโลเมตร
การเดินทาง : เขาสามมุขไม่มีรถสองแถวผ่าน จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก หรือไม่ต้องเช่ารถสองแถวจากตลาดหนองมนให้ไปส่ง แล้วรอรับกลับก็ได้
เวลาทำการ : เขาสามมุขเป็นพื้นที่สาธารณะ จึงผ่านไปชมได้ตลอดเวลา แต่กลางคืนค่อนข้างเปลี่ยว นักท่องเที่ยวนิยมไปเยือนและกราบไหว้ศาลเจ้าแม่สามมุขในเวลากลางวัน จนถึงเวลาประมาณ 18.00 น.
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม


..

หาดบางเเสน



หาดบางแสนอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
เป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชลบุรี อยู่ห่างจากตัวเมือง 14 กิโลเมตร โดยแยกจากถนนสุขุมวิทตรงกิโลเมตรที่ 104 เข้าไป 3 กิโลเมตร บริเวณชายหาดมีเครื่องเล่นกีฬาทางน้ำและร้านอาหาร บังกะโลไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว หาดบางแสนเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อยพาครอบครัวมาพักผ่อน เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และตัวเมืองมากนัก


ข้อมูลเพิ่มเติม

 กิจกรรม ณ หาดบางแสน มาถึงก็คงไม่พ้นการเล่นน้ำทะเล เล่นเรือกล้วย นั่งทานอาหารริมทะเล บนเก้าอี้ผ้าใบ ใต้ร่ม ที่ทางร้านอาหารจัดไว้ให้ มีแม่ค้า พ่อค้า เดินแบกของ หิ้วของ
มาขายกันมากมาย เลือกซื้อกันได้แล้วแต่ชอบใจ

พอถึงตอนเย็น เราจะได้ชมความงามของ พระอาทิตย์ตก ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในเมืองไทย



หลังจากชมพระอาทิตย์ตก กันแล้ว ถ้ายังไม่รีบร้อนกลับบ้าน ก็หาที่พักกันสักหน่อย ซึ่งก็มีให้เลือกกันหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นบังกะโล โรงแรม หรือรีสอร์ท


สำหรับที่พักที่อยากจะแนะนำ ก็คือ เดอะ ไทด์ รีสอร์ท เป็นรีสอร์ทหรู ตั้งอยู่ริมทะเล แต่มีถนนคั่นอยู่เท่านั้น สามารถจอง Online ได้เลยนะครับ ไม่มีบัตรเครดิตก็จองได้นะครับ ก็จ่ายเงินที่ 7 ELEVEN ก็ได้ครับ

สำหรับ
อาหารการกิน
ในโรงแรม เอส เอส บางแสน บีช ก็มีร้านอาหารนะครับ
หรือว่า ท่านอาจจะเดินไปทานที่
แหลมแท่น ก็ได้นะครับ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรม บริเวณแหลมแท่น พอฟ้ามืด แสงไฟจะเริ่มสว่างไสว มีร้านขายอาหารการกินมากมาย เลือกกันเอาเองนะครับ ว่าจะทานอะไร มีให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะอาหารทะเล มีให้ทานกันอย่างจุใจเลยทีเดียว เรียกกันได้ว่า ไม่มีท้องจะใส่เลยล่ะครับ


สถานที่ใกล้เคียง

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล อยู่ห่างจากหาดบางแสน ประมาณ 1 กิโลเมตร

เขาสามมุข

อ่างศิลา


ร้านของฝาก :-
ร้านแม่เจริญ
แผนที่การเดินทาง
 ศูนย์ของฝาก
จำหน่ายข้าวหลาม ขนมจาก ขนมหม้อแกง อาหารทะเลแห้ง ฯลฯ


แม่ละเอียด
ข้าวหลามแม่ละเอียดจำหน่ายข้าวหลาม ขนมจาก น้ำตาลสด
หอยดอง กั้งดอง ห้อยเสียบ ฯลฯ

ขายประจำไม่มีวันหยุด

ตลาดหนองมน ข้าง 7ELEVEN แสนสุข
เยื้องธนาคารกรุงไทย อ.เมือง จ.ชลบุรี

ทำการค้ามาเกือบ 30 ปี





เทศบาลเมืองแสนสุข : ถ.บางแสนสาย 2 ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี
โทรศัพท์ : 0-3819-3500-3
สำนักปลัดเทศบาล : 0-3819-3520-21
การเดินทางมาบางแสน สามารถเดินทาง ได้ทั้งทางบก และทางน้ำ แต่ทางบกจะมีความสะดวก และรวดเร็วกว่า การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ใช้เส้นทางถนนบางนา – ตราด (สายภาคตะวันออกของประเทศไทย) จากกรุงเทพฯ เข้าเขตอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มุ่งตรงเข้าสู่ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3) ห่างตัวเมืองชลบุรีประมาณ 13 กิโลเมตร ถึงสามแยกบางแสนเลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข 3137 (ถนนลงหาดบางแสน) การเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง
  • รถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-สัตหีบ, กรุงเทพฯ–ศรีราชา, กรุงเทพฯ–พัทยา, กรุงเทพ (สายเก่า)-ระยอง ลงที่ตลาดหนองมน ต่อรถสองแถวเล็กสีแดงซึ่งบริการรับ-ส่งผู้โดยสารตลอดทั้งวัน

  • รถตู้โดยสารประจำทาง วิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยบูรพา–หมอชิต–อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ–ฟิวเจอร์พาร์ค (รังสิต)
    สำหรับสภาพการจราจรในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะมีปริมาณรถหนาแน่น เนื่องจากประชาชน และนักเที่ยวเดินทางมาซื้อสินค้าที่ตลาดหนองมน และพักผ่อนที่ชายหาดบางแสน, แหลมแท่น. เขาสามมุข, สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ฯลฯ เป็นจำนวนมาก ส่วนในวันปกติปริมาณรถจะเบาบาง การจราจรคล่องตัว



  •  

    ข้อมูลทั่วไปในชลบุรี

    ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย

    จังหวัดชลบุรี :: ข้อมูลทั่วไป
    จังหวัดชลบุรี เรียกกันสั้น ๆ ว่า “เมืองชล” เป็นจังหวัดท่องเที่ยวชายทะเลตะวันออกที่มีชื่อเสียงมาช้านาน เป็นแหล่งเกษตรกรรมปลูกพืชเศรษฐกิจได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา รวมทั้งเป็นที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และแหล่งอุตสาหกรรมโรงงานที่สำคัญ
    เมืองชลบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 80 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 4,363 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอหนองใหญ่ อำเภอพนัสนิคม อำเภอบ้านบึง อำเภอพานทอง อำเภอบ่อทอง อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ อำเภอเกาะสีชัง และกิ่งอำเภอเกาะจันทร์ สำหรับ พัทยา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการบริหารปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ เรียกว่า เมืองพัทยา โดยแยกออกจากการปกครองของอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
    ประวัติและความเป็นมา
    ชื่อเสียงของเมือง ชลบุรี ในฐานะเมือง ท่องเที่ยว ชายทะเล ทำให้หลายคนคงนึกไม่ถึงว่า ชลบุรี จะเป็นเมืองหนึ่ง ที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่ก่อนสมัย สุโขทัย และเคยมีชุมชน ของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อยู่ด้วย น่าเสียดาย ที่หลักฐาน ทางโบราณสถาน และ โบราณวัตถุ ในหลายๆ แห่ง สูญหายไป และคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน น้อยมาก

    บริเวณที่ลุ่มริมฝั่งลำน้ำพานทอง ซึ่งไหลจากที่สูง ในเขต อ.พนัสนิคม ไปออก แม่น้ำบางปะกง เคยมีคนในยุคหินใหม่ อาศัยอยู่ โดยพบ หลักฐานสำคัญ ที่บริเวณโคกพนมดี ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคม คนกลุ่มนี้ ใช้ขวานหินขัด เครื่องประดับ พวก กำไลลูกปัด เครื่องปั้นดินเผา แบบเชือกทาบ และกินอาหาร จากทะเล เช่น หอยแครง ปู ปลา เป็นอาหารหลัก แสดงว่า สมัยนั้น พื้นที่นี้อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลกว่าปัจจุบันมาก

    ที่ ต.หน้าพระธาตุ อ.พนัสนิคม เมื่อประมาณ 1,400-700 ปีก่อน มีเมืองพระรถ ตั้งอยู่ บริเวณนี้มีลำน้ำสายต่างๆ จากที่สูงมารวมกันเป็นลำน้ำพานทอง สามารถเดินทางตามลำน้ำไปติดต่อกับชุมชนอื่นๆ ในสมัยนั้น เช่น เมืองศรีมโหสถ ใน จ.ปราจีนบุรี และ ไปถึงอรัญประเทศได้ เมืองพระรถ จึงเป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางเดินบก ไป ระยอง และ จันทบุรี ผ่านเมืองพญาเร่ ซึ่งเป็นเมืองโบราณ อีกเมืองหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัด ชลบุรี ด้วย เมืองพระรถ อยู่ในสมัยทวารวดี ถึงสมัย ลพบุรี

    ถ้ามาจากเมืองพระรถ ไปตามลำน้ำพานทอง จนออกทะเล ที่ปากแม่น้ำบางปะกง บริเวณนี้ มีชุมชนที่ต่อมา พัฒนาเป็นเมืองขึ้น เมื่อ 600 ปีก่อน ชื่อเมืองศรีพโล ในสมัยสุโขทัย เมืองศรีพโล เป็นเมืองท่าชายทะเล เรือสำเภาจากจีน เวียดนาม และ กัมพูชา เดินทางมาจอดพักสินค้า ก่อนเดินทางต่อไปยังปากแม่น้ำเจ้าพระยา และ จอดพักก่อนกลับ หรือ ข้ามอ่าวไทย ไปทางใต้ ปัจจุบัน กำแพงเมือง ศรีพโล ถูกทำลายไปหมด เนื่องจากการสร้าง ถ.สุขุมวิท

    เมืองศรีพโล เป็นเมืองท่า มาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ก็หมดความสำคัญลง อาจเพราะอ่าวเมืองศรีพโล ที่เคยเป็นฝั่งทะเลลึกเกิดตื้นเขินขึ้น เนื่องจากตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มาทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ ชุมชนจึงเคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ ที่ ต.บางปลาสร้อย ซึ่งมีสภาพชายทะเล และทำเล ที่จอดเรือดีกว่า บางปลาสร้อย นี้ก็คือ ที่ตั้งของเมืองชลบุรี ในปัจจุบันนั่นเอง

    ในแผนที่ ไตรภูมิ สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อตำบลสำคัญของ ชลบุรี เรียงจากเหนือลงใต้ คือ บางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ (ปัจจุบันคือ บางพระ) และบางละมุง ส่วนในทำเนียบศักดินาหัวเมือง มีชื่อเมือง ชลบุรี ว่าเป็นเมืองชั้นจัตวา ที่วัดใหญ่อินทาราม ซึ่งอยู่ในตัวเมือง ชลบุรี มีภาพเขียนสมัย อยุธยา ตอนปลาย แสดงถึงชีวิต ความเป็นอยู่ของชาว อยุธยา ชาวต่างชาติ ทั้งฝรั่ง และ จีน ภาพปราสาทราชวัง ฝีมือเขียนภาพงดงามมาก และ เป็นบันทึกหลักฐานอย่างดี ของเมืองท่าแห่งนี้

    ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระอินทอาษา ชาวนครเวียงจันทน์ พาชาวลาว มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ในที่ระหว่างเมืองชลบุรี กับ ฉะเชิงเทรา ต่อมา จึงตั้งขึ้น เป็นเมืองพนัสนิคม ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองพนัสนิคม และ เมืองบางละมุง ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นต่อ เมืองชลบุรี และเป็นอำเภอหนึ่งของ ชลบุรี มานับแต่นั้น

    ชลบุรี มีความสำคัญในฐานะเมืองท่า นับเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี จากสมัยสุโขทัย มาถึงสมัย รัตนโกสินทร์ และกระทั่งปัจจุบัน ก่อนที่จะมามีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเมืองตากอากาศชายทะเล เช่นทุกวันนี้
    อาณาเขต
    ทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.ฉะเชิงเทรา
    ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.ระยอง
    ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.ฉะเชิงเทรา จ.จันทบุรี และ จ.ระยอง
    ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย
    ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย